การขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน ควรคิดแบบไหน อย่างไร?
ขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน เป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี การคิด และคำนวณอัตราเงินเดือนให้ เป็นธรรม ถูกต้อง และเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
โดยการขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน ควรพิจารณาตามหัวข้อต่างๆ ดังนี้
ใครที่ควรได้รับการ ขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน บ้าง?
ตามประกาศคณะกรรมการ ข้อแนะนำการปรับค่าจ้าง แก่ภาคเอกชน ของกระทรวงแรงงาน ระบุไว้ว่า ข้อแนะนำการปรับค่าจ้าง "มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานประกอบกิจการใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปรับค่าจ้างให้แก่พนักงานที่ทำงาน 1 ปี ขึ้นไป" "เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน"
ส่วนพนักงานที่อายุงาน ไม่ถึง 1 ปี ในประกาศจากกระทรวงแรงงาน ไม่มีระบุไว้ชัดเจน ว่าจะต้องได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน ด้วยเช่นกันหรือไม่ เพียงแต่ต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดนั้นๆ นั่นเอง
การ ขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน ควรพิจารณาจากอะไรบ้าง?
จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการปรับค่าจ้าง ของกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานภาคเอกชน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักพิจารณา ขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน ตามปัจจัยต่างๆ เช่น
- สภาพเศรษฐกิจ
- ดัชนีราคาผู้บริโภค
- สภาวะการตลาดทั่วไป
- ผลประกอบการ
- ผลงานหรือประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน/ลูกจ้าง
อ่านเพิ่มเติม: สวัสดิการ ที่พนักงาน หรือคนรุ่นใหม่ อยากได้ มีอะไรบ้าง?
ขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน อัตราเท่าไหร่? มากน้อยแค่ไหนดี?
อัตราการปรับเงินเดือนจะปรับเป็นกี่ % ของเงินเดือน หรือกี่บาท ทางกระทรวงแรงงาน ไม่ได้มีกำหนดไว้ชัดเจนเป็นตัวเลขขนาดนั้น
เพียงแต่ชี้แจงไว้ว่า ทางบริษัทหรือองค์กรเองก็ควรพิจารณา ขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน ให้พนักงาน/ลูกจ้าง ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าอัตราค่ากลางเงินเฟ้อของแต่ละปีนั้นๆ
โดยในข้อแนะนำการปรับค่าจ้าง เพิ่มเติมคือ
บริษัทขนาดเล็ก หากทางบริษัทประกอบการแล้วได้ผลกำไรในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทก็ควร ขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน ให้พนักงานที่ทำงานมานานเกิน 1 ปีขึ้นไป ตามผลงานหรือประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ในการทำงานในปีต่อไป
บริษัทขนาดกลาง และขนาดใหญ่ อาจให้ทั้งโบนัส และปรับขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน/ลูกจ้างได้เลย แต่จะให้เท่าไหร่ก็ให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทหรือองค์กรได้
โดยมุ่งเน้นให้พิจารณาจากผลประกอบการของบริษัท และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน/ลูกจ้าง ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ หากบริษัทหรือองค์กร มีนโยบายการปรับอัตราเงินเดือนประจำปี หรือข้อตกลงการปรับค่าจ้างกับพนักงาน/ลูกจ้าง มาก่อนอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามข้อแนะนำเหล่านี้จากกระทรวงแรงงานอีก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเกณฑ์การ ขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือน ของแต่ละบริษัทจะเป็นอย่างไร ทางกระทรวงแรงงานก็ได้เน้นย้ำ และหวังว่า "สถานประกอบกิจการจะพิจารณาปรับค่าจ้างให้พนักงาน/ลูกจ้าง อย่างโปร่งใส และเป็นธรรม" อยู่เสมอ
แหล่งอ้างอิง
ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องข้อแนะนำการปรับค่าจ้าง แก่ภาคเอกชน 2554
ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องข้อแนะนำการปรับค่าจ้าง แก่ภาคเอกชน 2553